Home » รู้จัก : ถังดับเพลิง หรือ เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ fire extinguisher

รู้จัก : ถังดับเพลิง หรือ เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ fire extinguisher

by admin
717 views
ถังดับเพลิง

รู้จัก ถังดับเพลิง หรือ เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้าย กันหรือไม่ ?

ไฟ เกิดจากเชื้อเพลิง ความร้อน และออกซิเจน ซึ่งหากมีครบทั้ง 3 องค์ประกอบจะสามารถเกิดไฟขึ้นได้ เราเห็นข่าวไฟไหม้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นแล้วย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายตามมา สิ่งสำคัญในการระงับเหตุเพลิงไหม้คืออุปกรณ์ดับเพลิง ซึ่งอุปกรณ์ดับเพลิงขั้นพื้นฐานที่สามารถติดตั้งได้ทันทีและใช้งานได้สะดวก คือ เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้าย ได้ หรือที่เราเรียกว่าถังดับเพลิงนั่นเอง วันนี้เราจะมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับถังดับเพลิงว่ามีอะไรบ้าง

ถังดับเพลิง-คืออะไร

  1. เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้าย ได้คืออะไร

ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ “เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้” หมายความว่า เครื่องดับเพลิงซึ่งมีลักษณะเป็นอุปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก และใช้งานด้วยมือ ภายในบรรจุสารดับเพลิงซึ่งสามารถขับออกได้โดยใช้แรงดัน เช่น เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ แบบยกหิ้ว แบบลากเข็น หรือลักษณะอื่นใดที่คล้ายกัน  หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าถังดับเพลิงนั่นเอง

  1. ประเภทของไฟตามมาตรฐาน NFPA

การรู้จักประเภทของไฟที่เกิดขึ้น จะทำให้สามารถเลือกใช้เครื่องดับเพลิงได้อย่างถูกต้อง เหมาะกับประเภทของเชื้อเพลิงได้อย่างเหมาะสม โดยสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (NFPA) จำแนกไฟออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • ไฟประเภท A (Class A) : ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงทั่วไป เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า ยาง และพลาสติกหลายชนิด
  • ไฟประเภท B (Class B) : ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงเหลวติดไฟ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล  สารละลาย 
  • ไฟประเภท C (Class C) : ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีกระแสไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า
  • ไฟประเภท D (Class D) : ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นโลหะที่ติดไฟได้
  • ไฟประเภท K (Class K) : ไฟที่เกิด น้ำมันและไขมันในการปรุงอาหารในห้องครัว

การดับเพลิงแต่ละประเภทต้องใช้เครื่องดับเพลิงและวิธีการดับไฟที่เหมาะสม การใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ไฟรุนแรงขึ้น และนี่คือเหตุผลที่จำเป็นต้องระบุประเภทของไฟอย่างชัดเจน

ประเภทของถังดับเพลิง

  1. ประเภทของเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้

เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้มีให้เลือกใช้หลายประเภทตามความเหมาะสมกับเชื้อเพลิง ซึ่งแต่ละประเภทออกแบบมาเพื่อดับไฟ โดยประเภทของเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ มีดังต่อไปนี้

  • น้ำ (Water) : เครื่องดับเพลิงประเภทนี้ เป็นถังดับเพลิงที่บรรจุน้ำและก๊าซที่อัดไว้ ใช้เพื่อดับไฟที่เกิดจากวัสดุ ที่ติดไฟได้ เช่น ไม้ กระดาษ และผ้า (Class A) ไม่เหมาะกับไฟที่เกิดจากของเหลวไวไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือน้ำมันปรุงอาหาร
  • โฟม (Foam) : เครื่องดับเพลิงประเภทนี้ บรรจุน้ำผสมกับโฟมเข้มข้น ใช้เพื่อดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิง Class A และ Class B โดยการทำให้ขาดออกซิเจน แต่ไม่สามารถดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิง Class C ได้
  • ผงเคมีแห้ง (Dry Chemical) : เครื่องดับเพลิงประเภทนี้บรรจุผงเคมีแห้ง และอัดก๊าซไนโตรเจน ใช้เพื่อดับไฟ Class A , B , C  เหมาะกับการใช้งานตามบ้าน อาคารและโรงงานอุตสาหกรรม
  • คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) : เครื่องดับเพลิงประเภทนี้ข้างในบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัด ใช้เพื่อดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิง Class B และ C  ไม่ทิ้งสารตกค้างและปลอดภัยต่อการใช้งานกับอุปกรณ์
  • สารเคมีเปียก (Wet Chemical) : เครื่องดับเพลิงประเภทนี้บรรจุสารดับเพลิง Potassium Acetate ใช้เพื่อดับไฟ ที่เกิดจากน้ำมันและไขมันในการปรุงอาหาร (Class K)

สิ่งสำคัญในการเลือกใช้ถังดับเพลิง คือต้องระบุประเภทของถังดับเพลิงและเลือกใช้ถังดับเพลิงที่เหมาะสมกับประเภทของไฟ การใช้ถังดับเพลิงผิดประเภทอาจทำให้ไฟไหม้รุนแรงขึ้นได้

NFPA

  1. มาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้

มาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ ตามที่กำหนดไว้ใน ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ ได้แก่

  • มาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association : NFPA) 
  • มาตรฐานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI) 
  • มาตรฐานประเทศออสเตรเลีย (Australia Standards : AS) 
  • มาตรฐานประเทศอังกฤษ (British Standard : BS) 
  • มาตรฐานองค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization : ISO)
  1. วิธีการใช้ถังดับเพลิง

การใช้ถังดับเพลิง เราคงเคยได้ยินวิธีการแบบง่ายว่า “ดึง – ปลด – กด – ส่าย”  โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ดึง – วางถังดับเพลิงลงบนพื้น แล้วดึงสลักนิรภัยออก
  • ปลด – ปลดสายฉีด
  • กด – กดคันบีบเพื่อให้น้ำยาดับเพลิงออกมาจากหัวฉีด
  • ส่าย – ส่ายหัวฉีดให้น้ำยาพ่นออกไปบริเวณฐานของไฟ

เมื่อจำเป็นต้องใช้ถังดับเพลิง สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้เสมอว่า

  • ยืนในระยะที่ปลอดภัยจากไฟ
  • วางถังดับเพลิงให้ตั้งตรง
  • อย่าหันหลังให้กับไฟ
  • อย่าพยายามต่อสู้กับไฟที่ใหญ่เกินไปหรือลุกลามเกินกว่าจัดจัดการได้
  • โทรแจ้งรถดับเพลิงทันที หากไม่สามารถดับไฟได้ ต้องรีบอพยพไปยังจุดรวมพลโดยเร็วที่สุด

ตรวจสอบถังดับเพลิง

  1. การตรวจเช็ค เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้าย ได้

การตรวจเช็คเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ มีวิธีการตรวจสอบดังนี้

  • มาตรวัดแรงดัน (Pressure Gauge) อยู่ในตำแหน่งที่พร้อมใช้งาน เข็มของเกจต้องอยู่ในช่องสีเขียวไม่ตกไป ทางช่อง Recharge หรือ ช่อง Overcharged ถ้าเข็มชี้ไปยังช่องดังกล่าวจะไม่สามารถฉีดเครื่องดับเพลิงนั้นเพื่อดับไฟได้
  • สลักและซีล (Pull Pin and Temper Seal) ล็อคอยู่ ไม่ฉีกขาด
  • คันบีบ (Handle) อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บิด ไม่งอ
  • สายฉีด (Hose) ไม่แข็ง ไม่แตกลายงา และไม่ฉีกขาด
  • ตัวถังดับเพลิง (Fire Extinguisher body) ไม่เป็นสนิม ไม่บุบ
  • ถังดับเพลิง CO2 ให้นำถังดับเพลิงไปชั่งน้ำหนัก หากพบว่าน้ำหนักลดลงมากกว่า 10% ของน้ำหนักที่ระบุไว้ ให้ส่งไปตรวจสอบ

การตรวจสอบต้องตรวจสอบไม่น้อยกว่า 6 เดือน/ครั้งแต่โดยทั่วไปที่นิยมทำกันจะตรวจสอบเดือนละ 1 ครั้งเพื่อเตรียมพร้อมให้ถังดับเพลิงพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

ติดตั้งถังดับเพลิง

  1. ข้อกำหนดเกี่ยวกับเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ตามกฎหมาย

กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 ได้กำหนดเกี่ยวกับเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ไว้ดังนี้

ข้อ 13 ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ โดยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  1. จัดให้มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ตามประเภทของเพลิง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดหรือตามมาตรฐานที่อธิบดีกำหนด
  2. เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ทุกเครื่อง ต้องจัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นชนิดใด ใช้ดับเพลิงประเภทใด และเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์นั้นต้องมีขนาดที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
  3. ห้ามใช้เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ที่อาจเกิดไอระเหยของสารพิษ เช่น คาร์บอนเตตราคลอไรด์
  4. จัดให้มีเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ตามจำนวนความสามารถของเครื่องดับเพลิงและการติดตั้ง ตามที่กำหนดไว้ (ดูรายละเอียดจากกฎหมายฉบับเต็ม)
  5. จัดให้มีการดูแลรักษาและตรวจสอบเครื่องดับเพลิงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี โดยการตรวจสอบต้องไม่น้อยกว่า 6 เดือนต่อหนึ่งครั้ง พร้อมกับติดป้ายแสดงผลการตรวจสอบและวันที่ทำการตรวจสอบครั้งสุดท้ายไว้ที่อุปกรณ์ดังกล่าว และเก็บผลการตรวจสอบไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจได้ตลอดเวลา รวมทั้งต้องมีการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนถ่ายสารดับเพลิงตามข้อกำหนดของผู้ผลิตด้วย

สรุป

เครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้ หรือถังดับพลิง เป็นอุปกรณ์ในการดับไฟขั้นพื้นฐาน ที่สามารถใช้งานได้สะดวกและรวดเร็ว แต่ในการใช้งานนั้นผู้ใช้จะต้องเลือกประเภทของถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพลิงและใช้ให้ถูกวิธี จึงมีความจำเป็นต้องสอนวิธีการใช้งานกับพนักงานทุกคน เพราะยิ่งระงับเหตุได้เร็วเท่าไหร่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งน้อยลงไปด้วย 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555
  2. ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Blog คนรุ่นใหม่เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆที่มีประโยชน์ บทความด้านความปลอดภัยในการทำงานพร้อมอับเดทใหม่สดทุกวัน

@2023 – Machineblog. All Right Reserved. Designed and Developed by machineblog