อันตรายจากเสียงดัง สามารถป้องกันได้อย่างไร
อันตรายจากเสียงดัง ตามองค์การอนามัยโลก กำหนดว่า “เสียงที่เป็นอันตราย หมายถึง เสียงที่ดังเกิน 85 เดซิเบลเอ ที่ทุกความถี่” หากคนเราได้รับสัมผัสเสียงที่ดังเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือก่อให้เกิดความรำคาญ แต่หากได้รับสัมผัสในระยะเวลานานต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ระบบการได้ยิน เช่น สูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว ถ้าร้ายแรงก็อาจทำให้หูหนวกได้
-
แหล่งของมลพิษทางเสียง
มลพิษทางเสียงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แหล่งที่มาทั่วไปของมลพิษทางเสียง ได้แก่
- การขนส่ง: รถยนต์ รถบรรทุก รถไฟ เครื่องบิน และยานพาหนะอื่นๆ เสียงจากการจราจรเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดมลพิษทางเสียงที่พบบ่อยที่สุด
- แหล่งอุตสาหกรรม: เป็นแหล่งของมลพิษทางเสียง ที่พบได้บ่อย เช่น
-
- สถานที่ก่อสร้าง: เครื่องจักรกลหนัก เช่น รถขุด รถดันดิน และเครื่องเจาะ เครื่องตอกเสาเข็ม
- โรงงาน: เครื่องจักรอุตสาหกรรม เช่น เครื่องปั๊มโลหะ เครื่องกลึง เครื่องเจาะ
- โรงไฟฟ้า: เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
- การทำเหมือง: การระเบิด การขุดเจาะ และกิจกรรมการทำเหมือง
- การขนส่งทางอุตสาหกรรม: รถบรรทุกและรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม
- โรงกลั่นและโรงงานเคมี : มลพิษทางเสียงอาจมาจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการกลั่นและแปรรูปวัตถุดิบ
- สนามบิน : เสียงจากการขึ้นและลงของเครื่องบินอาจดังมากและทำให้เกิดมลภาวะทางเสียงในบริเวณโดยรอบ
- แหล่งการค้า: ศูนย์การค้า สนามบิน และพื้นที่เชิงพาณิชย์
- แหล่งของที่อยู่อาศัย: เครื่องตัดหญ้า เครื่องเป่าใบไม้ และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ
- แหล่งสันทนาการ: เสียงเพลง ดอกไม้ไฟ และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ
-
อันตรายจากเสียงดัง
การรับสัมผัสเสียงดังเกินระดับที่ปลอดภัยนำไปสู่ผลเสียต่อการได้ยินและสุขภาพ ผลที่ตามมาจากการได้รับสัมผัสเสียงที่ดังเกินไป ได้แก่
- การสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากเสียงรบกวน: การได้รับเสียงดังเป็นเวลานานสามารถทำลายเซลล์ขนในหูชั้นใน ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน
- หูอื้อ: เสียงที่ดังก้องอยู่ในหูอาจเกิดจากการสัมผัสกับเสียงดัง
- ความเครียด: เสียงดังทำให้เกิดความเครียด นำไปสู่ปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ
- รบกวนการนอนหลับ: เสียงที่ดังเกินไปสามารถรบกวนการนอนหลับและนำไปสู่การนอนไม่หลับ
- บกพร่องทางสติปัญญา: เสียงรบกวนยังส่งผลต่อการทำงานของการรับรู้ รวมถึงทำให้ความจำและสมาธิของผู้ที่รับสั้นลง
- ผลกระทบต่อสุขภาพจิต : มลภาวะทางเสียงเชื่อมโยงกับอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด: การสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง
การสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้รับสัมผัส หากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังเป็นระยะเวลานาน จะต้องมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม
-
การป้องกันอันตรายจากเสียงดัง
การป้องกันอันตรายจากเสียงดังและการลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินรวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ สามารถทำได้โดย
- การสวมที่อุดหูหรือที่ครอบหูลดเสียง: การสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น ปลั๊กอุดหูลดเสียง หรือที่ครอบหูลดเสียง สามารถลดปริมาณเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานรับสัมผัสได้
- จำกัดระยะเวลาการรับสัมผัส: หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังหรือจำกัดระยะเวลาในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง เช่น ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ปฏิบัติงาน
- การรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากแหล่งกำเนิดเสียงดัง: การรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากแหล่งกำเนิดเสียงดังช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยิน
- หยุดพักบ่อยๆ: หากต้องเผชิญกับเสียงดังเป็นระยะเวลานาน ให้หยุดพักบ่อยๆ เพื่อให้หูได้พัก
- การตรวจวัดระดับเสียง: การตรวจวัดระดับเสียงในสภาพแวดล้อมการทำงาน เป็นการเฝ้าระวังเพื่อดูว่าพื้นที่การทำงานมีระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานหรือไม่
- การอบรมให้ความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเสียง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานกับเสียงดังได้อย่างปลอดภัยและสามารถป้องกันตนเองจากอันตรายของเสียงได้
การป้องกันอันตรายจากเสียงดังอาจมีวิธีการอื่นที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับสภาพการทำงาน ซึ่งในระหว่างที่หาทางแก้ไขระดับเสียง ต้องให้ผู้ปฏิบัติงานสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันอันตรายจากการรับสัมผัสเสียงที่ดังเกินไป
-
ข้อกำหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับเสียง
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 กำหนดไว้ใน หมวด 3 เสียง โดยระบุรายละเอียดไว้ดังนี้
ข้อ 7 นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงมิให้ลูกจ้างได้รับสัมผัสเสียงในบริเวณสถานประกอบกิจการที่มีระดับเสียงสูงสุด (peak sound pressure level) ของเสียงกระทบหรือเสียงกระแทก (impact or impulse noise) เกิน 140 เดซิเบล หรือได้รับสัมผัสเสียงที่มีระดับเสียงดังต่อเนื่องแบบคงที่ (continuous steady noise) เกินกว่า 115 เดซิเบลเอ
ข้อ 8 นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดเวลาการทํางานในแต่ละวัน (Time Weighted Average-TWA) มิให้เกินมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศกําหนด ซึ่งมาตรฐานเสียงสามารถดูได้จาก ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน
ข้อ 9 ภายในสถานประกอบกิจการที่สภาวะการทํางานมีระดับเสียงเกินมาตรฐาน ที่กําหนด นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดทํางานจนกว่าจะได้ปรับปรุงหรือแก้ไขให้ระดับเสียงเป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนด และให้นายจ้างดําเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขทางด้านวิศวกรรม โดยการควบคุมที่ต้นกําเนิดของเสียงหรือทางผ่านของเสียงหรือบริหารจัดการเพื่อควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างจะได้รับให้ไม่เกินมาตรฐานที่กําหนด และจัดให้มีการปิดประกาศและเอกสารหรือหลักฐานในการดําเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขดังกล่าวไว้ เพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้
ในกรณีที่ไม่สามารถดําเนินการตามวรรคหนึ่งได้ นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ทํางาน เพื่อลดระดับเสียงที่สัมผัสในหูเมื่อสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลแล้ว โดยให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานตามที่กําหนด การคํานวณระดับเสียงที่สัมผัสในหูเมื่อสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล สามารถดูได้จาก ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การคำนวณระดับเสียงที่สัมผัสในหูเมื่อสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
ข้อ 10 ในบริเวณที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐาน นายจ้างต้องจัดให้มีเครื่องหมายเตือนให้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลติดไว้ให้ลูกจ้างเห็นได้โดยชัดเจน
ข้อ 11 ในกรณีที่สภาวะการทํางานในสถานประกอบกิจการมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทํางาน 8 ชั่วโมงตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกําหนด
สรุป
นายจ้างต้องตรวจวัดระดับเสียงภายในสถานประกอบกิจการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและหากเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทํางาน 8 ชั่วโมงตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอขึ้นไป ต้องจัดให้มีมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน นอกจากนี้ต้องให้ลูกจ้างที่ทำงานที่อาจได้รับอันตรายจากเสียง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การคำนวณระดับเสียงที่สัมผัสในหูเมื่อสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์สภาวะการทำงานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียง รวมทั้งระยะเวลาและประเภทกิจการที่ต้องดำเนินการ
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดแบบรายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียงภายในสถานประกอบกิจการ