Home » sds คือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัย ของสารเคมี จำเป็นอย่างไร

sds คือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัย ของสารเคมี จำเป็นอย่างไร

by admin
921 views
SDS-จำเป็นอย่างไร

SDS  เอกสารข้อมูลความปลอดภัย ของสารเคมี คืออะไร ประกอบด้วยข้อมูลอะไรบ้าง

SDS เอกสารข้อมูลความปลอดภัย ของสารเคมีจำเป็นหรือไม่ อย่างไร การทำงานในปัจจุบันหรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน เรามักจะสัมผัสกับสารเคมีอยู่เสมอ ซึ่งมีทั้งอันตรายและไม่อันตราย ในการทำงานกับสารเคมีนั้น เราจำเป็นต้องรู้จักกับสารเคมีที่เราใช้ ว่าสารนั้น คืออะไร มีอันตรายหรือไม่ และต้องใช้อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งาน ซึ่งในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเอกสารที่จะช่วยให้เราสามารถทำงานกับสารเคมีได้อย่างปลอดภัย

เอกสาร ข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี SDS คืออะไร

SDS ย่อมาจาก Safety Data Sheet หรือบางครั้งอาจใช้คำว่า MSDS (Material Safety Data Sheet)

ซึ่งทั้ง 2 คำ มีความหมายเดียวกันเมื่อแปลเป็นไทย คือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัย เป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติและอันตรายของสารเคมีหรือสารผสม ตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการ การจัดเก็บ และ ขั้นตอนในกรณีฉุกเฉิน และยังรวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสารเคมีอย่างครบถ้วน

ติด-SDS-ไว้ที่หน้างาน

โดยทั่วไปแล้ว SDS จะถูกจัดทำขึ้นโดยผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ที่นำสารเคมีเหล่านั้นไปใช้ มีความรู้ความเข้าใจและสามารถทำงานกับสารเคมีชนิดนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่ง SDS ไม่ได้มีเพียงแค่ภาษาไทยเท่านั้น อาจมีภาษาอื่นๆ ตามแหล่งที่มาของสารเคมีนั้น แต่ที่พบเห็นได้บ่อยในประเทศไทย คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ก่อนที่เราจะเอา SDS ไปใช้งาน ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานด้วย เช่น หากต้นฉบับของ SDS เป็นภาษาอังกฤษ ก่อนนำไปใช้งานจะต้องแปลเป็นภาษาไทยใส่แบบฟอร์มที่เข้าใจง่ายและยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจได้ง่าย

SDS เอกสารข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วยอะไรบ้าง

โดยทั่วไปเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) จะประกอบด้วย 16 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

  • ส่วนที่ 1 ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีและชื่อผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย (Chemical Product and Company Identification) : ส่วนนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อผู้ผลิตและข้อมูลติดต่อ
  • ส่วนที่ 2 ข้อมูลบ่งชี้ความเป็นอันตราย (Hazards identification) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้อง กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจำแนกประเภทของผลิตภัณฑ์ และคำหรือสัญลักษณ์สัญญาณใดๆ ที่ใช้ระบุระดับของอันตราย
  • ส่วนที่ 3 องค์ประกอบ / ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition / Information on ingredients) : ส่วนนี้แสดงรายการส่วนผสมทางเคมีในผลิตภัณฑ์และความเข้มข้นของส่วนผสม
  • ส่วนที่ 4 มาตรการการปฐมพยาบาล (First aid measures) : ส่วนนี้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำหากมีผู้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับอาการและมาตรการปฐมพยาบาลที่แนะนำ
  • ส่วนที่ 5 มาตรการในการดับเพลิง (Firefighting measures) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการดับไฟที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ ตลอดจนข้อควรระวังพิเศษใดๆ ที่ควรดำเนินการ
  • ส่วนที่ 6 มาตรการจัดการเมื่อมีการหกรั่วไหล (Accidental release measures) : ส่วนนี้จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำในกรณีที่ผลิตภัณฑ์หกหรือรั่วไหล
  • ส่วนที่ 7 การใช้และการเก็บรักษา (Handling and storage) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้และจัดเก็บผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัย
  • ส่วนที่ 8 การควบคุมและการป้องกันส่วนบุคคล (Exposure controls and personal protection) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันอันตรายส่วนบุคคล  กำหนดชนิดของ PPE ที่ต้องสวมใส่
  • ส่วนที่ 9 สมบัติทางกายภาพและทางเคมี (Physical and chemical properties) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของผลิตภัณฑ์ เช่น จุดหลอมเหลวและความดันไอ
  • ส่วนที่ 10 ความเสถียรและความไวต่อการเกิดปฏิกิริยา (Stability and reactivity) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสถียรและความไวต่อปฏิกิริยาของผลิตภัณฑ์ รวมถึงสภาวะใดๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้น
  • ส่วนที่ 11 ข้อมูลด้านพิษวิทยา (Toxicological information) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางพิษวิทยาของผลิตภัณฑ์และการทดสอบใดๆ ที่ได้ดำเนินการเพื่อประเมินผลกระทบเหล่านั้น
  • ส่วนที่ 12 ข้อมูลด้านนิเวศวิทยา (Ecological information) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม
  • ส่วนที่ 13 ข้อพิจารณาในการกำจัดหรือทำลาย (Disposal considerations) : ส่วนนี้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีกำจัดผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อย่างปลอดภัย
  • ส่วนที่ 14 ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่ง (Transport information) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติสำหรับการขนส่งผลิตภัณฑ์
  • ส่วนที่ 5 ข้อมูลเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (Regulatory information) : ส่วนนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกำหนดหรือแนวทางข้อบังคับที่ใช้กับผลิตภัณฑ์
  • ส่วนที่ 16 ข้อมูลอื่นๆ (Other information) : ส่วนนี้ประกอบด้วยข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ ที่ผู้ผลิตเห็นว่ามีความสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

MSDS-คือ

SDS เอกสารข้อมูลความปลอดภัย มีความสำคัญอย่างไร

เมื่อพูดถึง SDS หลายคนคงมีคำถามว่า ทำไมต้องมี มีเพื่ออะไร เรามาดูกันว่าทำไม SDS จึงมีความสำคัญต่อการสื่อสารเกี่ยวกับความปลอดภัยและอันตรายของสารเคมี เนื่องจากเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) เป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติ ความเป็นอันตราย และการจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับการป้องกันผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมจากความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี

ข้อมูลใน SDS ประกอบด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีชนิดนั้นๆ อย่างครบถ้วน จึงสามารถช่วยให้นายจ้างและผู้ปฏิบัติงานระบุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและกำหนดมาตรการการป้องกันอันตรายจากสารเคมีในที่ทำงาน รวมถึงการตอบสนองได้อย่างเหมาะสมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ SDS ยังช่วยให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีได้อีกด้วย

ข้อกำหนดตามกฎหมาย SDS

เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) นอกจากจัดทำขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีแล้ว ยังมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 โดยกำหนดไว้ว่า ข้อ 9 ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet : SDS) ของสารเคมีที่เป็นภาษาไทย หรือคำแนะนำความปลอดภัยของสารเคมีที่เป็นภาษาไทย โดยคนงานที่เกี่ยวข้องต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และสื่อสารข้อมูลในส่วนที่สำคัญของสารเคมีให้คนงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet : SDS) ต้องมีรายละเอียดตามระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีโดยอ้างอิงตาม Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemical (GHS)
  • กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ได้กำหนดไว้ในหมวด 1 ข้อมูลความลอดภัยของสารเคมีอันตราย

ข้อ 2 ให้นายจ้างที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครองจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารคมีอันตรายตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมทั้งแจ้งต่ออธิบดีภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครอง ภายในเดือนมกราคมของทุกปี ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตราย และรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายที่ตนมีอยู่ในครอบครองต่ออธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

4.ลูกจ้างเข้าใจข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายที่อยู่ในครอบครองของนายจ้าง

ข้อ 3 ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างทราบและอธิบายให้ลูกจ้างเข้าใจข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตรายที่อยู่ในครอบครองของนายจ้าง ข้อความและเครื่องหมายต่างๆ ที่ปรากฏในเอกสาร คู่มือ ฉลาก ป้าย หรือข่าวสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ตามที่ได้กําหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ข้อ 4 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างที่ทํางานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายทราบและเข้าใจวิธีการในการทํางานที่ถูกต้องและปลอดภัย

รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมลูกจ้างให้ปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าว ในการนี้ให้นายจ้างจัดทําคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติและขั้นตอนในการทํางานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย คําแนะนําลูกจ้างเกี่ยวกับการป้องกันอันตราย ความหมายของข้อมูลที่มีบนฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย

ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูล ความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย ในประกาศฉบับนี้ได้ กำหนด แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย (แบบ สอ.1)  ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวถึง SDS โดยตรง แต่แบบฟอร์มดังกล่าว เป็นข้อมูลที่ต้องนำมาจาก SDS เพื่อนำมาใส่ในแบบฟอร์มนี้

สรุป

การทำงานกับสารเคมี สิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก คือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัย หรือ SDS เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานกับสารเคมีได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงสามารถป้องกันตนเองจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยผู้ปฏิบัติงานกับสารเคมีต้องได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีชนิดนั้นๆ ก่อน และต้องมีการอบรมทบทวนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากมีการนำสารเคมีชนิดใหม่เข้ามาใช้ก็ต้องทำการอบรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบด้วยเช่นกัน 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556
  1. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565
  1. ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง แบบบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอันตราย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Blog คนรุ่นใหม่เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆที่มีประโยชน์ บทความด้านความปลอดภัยในการทำงานพร้อมอับเดทใหม่สดทุกวัน